วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 13, 2548

The Second Oratory

The Second Oratory

الحمد لله رب العالمين حمدا كثيرا كما أمر وأشهدألاإله إلاالله وحده لاشريك له له الملك وله الحمد يحيي ويميت وهو علي كل شئٍ قدير
وأشهد أنّ سيدنا محمدا عبده ورسوله سيدالجن والبشرأرسله الله بالهدي ودين الحق ليظهره علي الدين كله ولوكره المشركون
اللهم صل وسلم علي عبدك ورسولك محمدٍ وعلي آله وأصحابه وأتباعه أجمعين
أمابعد:
فياأيها الناسُ اتقوا الله وأطيعوه لعلكم ترحمون فقد قال الله تعالي ياأيها الناس قد جاءتكم موعظةٌ من ربكم وشفاءٌ لما في الصدور وهدى ورحمةٌ للمؤمنينَ
إن الله وملائِكته يصلون علي النبي ياأيهاالذين آمنوا صلوا عليه وسلموا تسليما
اللهم اغفر للمسلمين والمسلمات والمؤمنين والمؤمناتِ الأحياِء منهم والأموات في الدنيا والآخرة
اللهم انصُرالإسلام والمسلمين في كل مكان ودمّر أعداءالدين وفََرّّق شَمْلَهم
اللهم ارزقنا الإخلاصَ في القول والعمل وارزقنا الصبرَ والحِلمَ والطاعةَ وارزققنا التوبةَ والمغفرةَ
اللهم آت نفوسَنا تقواها وزكِّها أنت خيرُمن زكاها أنت وليُّها ومولاها
عبادالله إن الله يأمركم بالعدل والإحسان وإيتاءذي القربي وينهي عن الفحشاء والمنكر والبغيِ يعظكم لعلكم تذكرون

การศึกษา...หนทางสู่ความสำเร็จ
ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นยุคสมัยของข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคที่การสื่อสารไร้ขีดจำกัด เป็นยุคดิจิตอลหรือยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ล้วนเป็นผลมาจากความสามารถของมนุษย์ ในการประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยผ่านการเรียนรู้และการพัฒนามาเป็นช่วงๆ ผ่านแต่ละยุคสมัยมาจวบจนปัจจุบัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดจาก การศึกษาค้นคว้า มิใช่เกิดจากความบังเอิญ ดังที่ท่านนบีมุฮำหมัด ศอลฯ กล่าวไว้
" إنما العلمُ بالتعلُمِ "
ความว่า “ แท้จริงแล้วความรู้นั้นเกิดขึ้นมาด้วยกับการศึกษา “
ฉะนั้น ควรที่เราท่านจะปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การศึกษาคือสิ่งที่จะนำมนุษย์ไปสู่วิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่ไม่ตกอยู่ในสภาพล้าหลัง
การศึกษาเป็นสุดยอดของสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา เป็นอาวุธสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่แสงสว่างในการดำเนินชีวิต เป็นแสงสว่างนำพาให้เราพ้นจากความมืดมิดแห่งความโง่เขลา ทำให้เราพ้นจากการตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ประสงค์ร้าย ท่านทั้งหลายคงรู้จักกับคำพูดที่ว่า “คนโง่ ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด” แต่คนฉลาดจะไม่สามารถเป็นผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องได้เลย ถ้าเขาไม่ได้ศึกษา และคนโง่ ก็จะไม่เป็นผู้ที่โง่เขลาตลอดกาล หากเขารักที่จะศึกษาและใฝ่หาความรู้

อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมากมาย ถึงกับระบุว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เป็นหน้าที่ของเราทุกคนในการที่จะแสวงหามัน ดังที่ท่านนบีมูฮำหมัด ศ็อลฯ ได้กำชับพวกเราว่า
" طَلبُ العلِم فريضةٌ علي كل مسلمٍ ومسلمةٍ "
ความว่า “ การ แสวงหา ความรู้นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือมุสลิมชาย และมุสลิมหญิงทุกคน”
จากฮาดิษนี้ บอกไว้ชัดเจนว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ บุคคลทุกคน ทุกเพศทุกวัย และการศึกษาตามทัศนะของอิสลาม ไม่ได้จำกัดที่อายุของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ในการที่เขาจะใฝ่หาความรู้ ดังที่ท่านศาสดากล่าวไว้ว่า
" اطلبوا العلم مِنَ المهدِ إلي اللحدِ "
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงศึกษาหาความรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมศพ”
ฮาดิษนี้ได้ยืนยันอีกครั้งว่า การศึกษาไม่มีวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก จะเป็นหนุ่มหรือสาว หรือจะเป็นคนชราที่ มีอายุเยอะแล้ว พวกเขาย่อมที่จะศึกษาหาความรู้ได้ และท่านนบีของเรายังได้กำชับให้เราศึกษา ถึงแม้ว่าความรู้นั้นจะอยู่แสนไกล
" أطلب العلم ولو با الصين "
ความว่า “ จงแสวงหาความรู้เถิด ถึงความรู้นั้นจะอยู่ถึงเมืองจีน”
ท่านนบีส่งเสริมให้ขวนขวายแสวงหาความรู้ ถึงแม้จำต้องเดินทางในดินแดนที่แสนไกลเพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษา อัลลอฮ์ตาอาลาได้ดำรัสถึงความประเสริฐต่างๆของความรู้ ดังที่พระองค์ดำรัสถึงคำขอพรของท่านนบีมุฮำหมัด ศ็อลฯ ในโองการหนึ่งของซูเราะห์ ตอฮาว่า
قال تعالي: ربِّ زدني عاماً

ความว่า “ โอ้อัลลอฮ์ขอพระองค์เพิ่มความรู้ให้กับฉันเถิด”
และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความประเสริฐของความรู้อีกประการหนึ่ง เพราะอัลลอฮ์ไม่ได้ใช้นบีของเราแสวงหาสิ่งใดเพิ่มเติม เว้นไว้แต่ความรู้
อัลลอฮ์ตะอาลา ทรงดำรัสไว้ถึงความประเสริฐต่างๆของผู้ที่มีความรู้ไว้มากมาย ดังโองการหนึ่งที่พระองค์ดำรัสไว้ในซูเราะห์ อัลมุญาดะละห์ อายะห์ที่ 11
قوله تعالي: يرفعِ اللهُ الذينَ آمنوا منكم والذين أوتُوا العلمَ درجاتٍ
ความว่า “ อัลลอฮ์จะทรงยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ที่ได้รับความรู้นั้นหลายชั้น”
อิสลามได้ระบุถึงหนทางที่จะได้รับความรู้โดยการศึกษาตามรูปแบบต่างๆ ตามแต่ยุคสมัย ในปัจจุบันรูปแบบการศึกษามีมากมายหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ที่ศึกษาว่าจะเลือกในรูปแบบใด แต่ในวันนี้จะไม่กล่าวถึงรูปแบบการศึกษา แต่จะกล่าวถึง ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยให้การศึกษานั้นประสบผลสำเร็จ และเป็นสิ่งที่ทำให้พ้นผ่านอุปสรรค นำเราสู่จุดหมาย สู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ที่ได้รับจากการศึกษา ได้แก่
. ความตั้งใจ
ศาสนาอิสลามได้วางกฎเกณฑ์เงื่อนไขการทำความภักดีต่อพระเจ้า โดยผ่านเจตจำนงของผู้กระทำ ดังวจนะของท่านนบีว่า
" إنما الأعمال بالنيات "
ความว่า “แท้จริงบรรดาการงานต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา”
การศึกษาก็เช่นกัน ผู้ประสงค์จะศึกษาวิชาการต่างๆจะต้องตั้งเจตนาอันแน่วแน่และบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ และนอกจากนี้จะต้องตั้งเป้าหมายการศึกษาของตน นับตั้งแต่แรกเริ่ม และขณะกำลังศึกษาอยู่ กล่าวคือจะต้องรู้สติ มิใช่ศึกษาโดยปราศจากเป้าหมาย อันเปรียบเสมือนเรือที่ลอยเค้วงคว้างอยู่กลางทะเลโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะการดำเนินชีวิตลักษณะนี้จะเป็นการยากที่จะไปถึงเป้าหมาย และนอกจากนี้ผู้ศึกษาจะต้องดำรงตนให้อยู่ในหนทางที่สามารถไปถึงเป้าหมาย ดังเช่น โคลงอาหรับบทหนึ่ง เค้าบอกไว้ว่า
" ترجُوا النجاحَ ولم تسلُكْ مسالِكَها إنّ السفينةَ لاتجري علي اليَبَسِ "ِِ
“ท่านหวังที่จะประสบความสำเร็จ แต่ท่านไม่ได้เดินตามทางของมัน แท้ที่จริง เรือนั้นไม่ได้แล่นอยู่บนบก”
ต่อมาปัจจัยที่สองคือ
ความอดทน
หากเราพิจารณาประวัติของบรรดานบีที่ได้ระบุไว้ในกุรอาน เราจะพบว่าความอดทนเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่บรรดานบีใช้เป็นปัจจัยในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในอันที่จะได้มาซึ่งธรรมนูญการดำเนินชีวิตจากพระเจ้า และการใช้ความอดทนในการเผยแผ่ศาสนาต่อมวลประชาชาติ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ไม่มีกิจการงานใดที่เราจะได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องประสบความยากลำบากและใช้ความอดทน ดังเช่นเมื่อเราใคร่ครวญพิจารณาถึงประวัติของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม เราจะพบว่าฮิกมัตที่อัลลอฮ์ ตะอาลาให้นบีมูซาต้องรอนแรมเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาซีนาย และประสพความยากลำบาก เพื่อรับบัญญัติจากอัลลอฮ์ ฮิกมัตหนึ่งที่เห็นนั่นคือ ให้ประชาชาติรุ่นหลังได้มองเห็นถึงการที่จะต้องใช้ความอดทนเพื่อจะได้มาซึ่งบทบัญญัติของพระเจ้า และพวกเรากำลังดำเนินตามหนทางของท่านนบีมูซา และท่านอื่นๆ ดังนั้นผู้ที่ออกไปแสวงหาความรู้ เขาจะต้องนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดชี้แนะแก่สังคม ถึงแม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาต่างกว่าจะได้ความรู้มานั้น จำเป็นที่เขาจะต้องอดทน
ปัจจัยที่สามได้แก่
ความขยันหมั่นเพียร
เป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่ผู้มุ่งแสวงหาความรู้พึงปฏิบัติ เพราะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายหรือความสัมฤทธิ์ผลดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ความขยันหมั่นเพียรนี้จะอยู่คู่กับความอดทน เพราะเป้าหมายใดๆจะสำเร็จไม่ได้ หากปราศจากซึ่งความเพียรพยายาม และการเสียสละเวลาเพือ่การศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะศึกษาจากสื่อความรู้รูปแบบใดก็ตาม
ปัจจัยที่สี่ คือ
การเสียสละเวลาและความสม่ำเสมอ
โดยหลักการอิสลามแล้วเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้ทรงสาบานกับกาลเวลาถึงการขาดทุนของผู้ที่ไม่มีอีหม่านหรือผู้ที่ปล่อยปละละเลย โดยไม่คิดถึงคุณค่าของเวลาหรือไม่ยึดหลักการของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลอัศร์
بسم الله الرحمن الرحيم
(والعصر إن الإنسان لفي خسرِ إلاالذين آمنوا وعملواالصالحات وتواصوابالحق وتواصوا بالصبر)
ความว่า “ขอยืนยันกับกาลเวลา แท้จริงมนุษย์ตกอยู่ในความขาดทุน ยกเว้นบรรดาผู้ที่มีศรัทธาและประพฤติแต่ความดีงาม และพวกเขาตักเตือนกันในสัจธรรมและพวกเขาตักเตือนกันในเรื่องขันติธรรม”
ซูเราะห์ดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของเวลา และเล็งเห็นผลบั้นปลายของผู้ที่เฉยเมยต่อคุณค่าของเวลาที่ผ่านไป เพื่อจะได้ใคร่ครวญถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล ทำให้เราตระหนักถึงหน้าที่ของเราในการมาอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังเช่น นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก ที่ลืมการใคร่ครวญ การระลึกว่า เรากำลังอยู่ในบทบาทของผู้ที่ศึกษา ภาระหน้าที่สำคัญคือการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจควบคู่ไปกับการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมที่อาศัยอยู่ แต่ทั้งนี้การทำประโยชน์เหล่านั้นต้องไม่ทำให้เราไขว้เขวออกจากหน้าที่หลักคือ “การศึกษา” ซึ่งการหลงลืมต่อภาระหน้าที่ดังกล่าว นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่กีดกันความสำเร็จของนักศึกษา ดังนั้นการบริหารเวลา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในด้านบวกและลบในเวลาเดียวกัน ท่านรอซู้ล ศ็อลฯ ได้เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “อิสลามให้ความสำคัญต่อเวลา” แต่ไม่ได้ใช้ให้เราถึงกับต้องทุ่มเทเวลาทุกนาที ให้อยู่กับการทำอิบาดะห์ ถึงขั้นตัดขาดจากความเป็นจริงของการดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ท่านนบีทรงเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตในลักษณะผ่อนปรน นั่นคือการรู้จักให้สิทธิแก่ร่างกายในการพักผ่อนหาความสำราญ ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านั้นไม่ทำให้เราหันเหออกจากการเป็นบ่าวที่ภักดีต่ออัลลอฮ์ตาอาลา เพราะการให้สิทธิแก่ร่างกายเป็นหลักการของอิสลาม แต่การพักผ่อน จะต้องไม่เป็นการบั่นทอนความมุ่งมั่นหรือการตั้งใจในการศึกษา
และปัจจัยสุดท้าย ก็คือ
ขอดุอาอ์เพื่อความสัมฤทธิ์ผล
อัลกุรอานและอัลฮาดีษได้กล่าวถึงภาคผลของผู้ที่อยู่ในหนทางการศึกษาไว้อย่างมากมาย เช่น การบอกกล่าวถึงลำดับขั้นความมีเกียรติของผู้ที่มีความรู้ และผลบุญที่อัลลอฮ ซุบฯ จะประทานให้แก่ผู้เรียน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้บ่งชี้ถึงการเป็นอิบาดะห์ของภาคการศึกษา และอิบาดะห์ นั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ตะอาลา เพื่อการบรรลุผล และเป็นการมอบหมายต่อพระองค์ หลังจากที่เราได้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้อย่างดีที่สุดแล้ว ท่านนบีมุฮำหมัด ศอลฯ ได้กล่าวว่า
" الدعاءُ مخُّ العبادة "
ความว่า “ การขอพรคือส่วนสำคัญของอิบาดะห์”
ซึ่งการขอพรต้องควบคู่ไปกับการมอบหมายทุกอย่างต่อพระเจ้าโดยดุษฏี ดังนั้นการบรรลุความสำเร็จของการศึกษาจึงประกอบไปด้วยปัจจัยที่กล่าวมานี้
อิสลามได้ย้ำถึงคุณค่าของการศึกษาไว้อย่างมากมาย และอิสลามได้ยกย่องผู้ที่มีความรู้และผู้ที่ให้ประโยชน์ในทางวิชาการ โดยมิได้ระบุเฉพาะว่า เป็นวิชาด้านใด หรือสาขาใด หากการศึกษาและการให้คุณประโยชน์นั้นอยู่บนพื้นฐานการภักดีต่อพระเจ้า มิได้เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ แต่การศึกษาที่เป็นหนทางไปสู่ความโปรดปรานและการใกล้ชิดต่อัลลอฮ์ที่สุด คือการศึกษาในเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ศึกษาอัลกุรอาน และอัลฮาดิษ ตามแบบฉบับของบรรดาศอฮาบะห์ ที่พวกเขาได้ศึกษาและได้รับความรู้จากท่านรอซู้ล ศอลฯ

การปลูกฝังเยาวชนให้รักการศึกษาเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และหากลูกหลานมุสลิมเราได้รับความรู้ทั้งในด้านศาสนาและด้านวิทยาการอื่นๆควบคู่กันด้วยแล้ว ลูกหลานของเราจะเป็นมุสลิมที่มีคุณภาพ เป็นผู้ศรัทธาที่ยำเกรงและรู้เท่าทันภยันตรายที่อยู่รอบตัวพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะกลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์
และในวันพรุ่งนี้วันเสาร์ที่10 และอาทิตย์ที่11 นี้ ทางโรงเรียนมิฟตาฮุลอุลูมิดดีนิยะห์ จะจัดงานรวมน้ำใจสู่มิฟตาฮ์ เพื่อหารายได้บำรุงและส่งเสริมการศึกษา แก่บุตรหลานเยาวชนมุสลิมของเรา ภายในงานมีอาหารจำหน่าย และมีการบรรยายธรรมโดยบรรดาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณาจารย์รุ่นใหม่ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศซึ่งพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เก่ามิฟตาฮ์ทั้งสิ้น มาร่วมชื่นชมความสามารถของพวกเขาซึ่งพวกเขาได้ดำเนินตามแบบฉบับของท่านศาสดาและเป็นคนรุ่นใหม่

ดัดแปลงจากบทความของ อ.อิลยาส มาศโอสถ และ อ.อับดุลฆอนี เด่นตี วารสาร"อัลมิฟตาฮ์" ฉบับที่ 8 ปีที่ 10 ฮ.ศ.1423 / พ.ศ. 2545