วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 13, 2548


การศึกษา...หนทางสู่ความสำเร็จ
ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นยุคสมัยของข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคที่การสื่อสารไร้ขีดจำกัด เป็นยุคดิจิตอลหรือยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ล้วนเป็นผลมาจากความสามารถของมนุษย์ ในการประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยผ่านการเรียนรู้และการพัฒนามาเป็นช่วงๆ ผ่านแต่ละยุคสมัยมาจวบจนปัจจุบัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดจาก การศึกษาค้นคว้า มิใช่เกิดจากความบังเอิญ ดังที่ท่านนบีมุฮำหมัด ศอลฯ กล่าวไว้
" إنما العلمُ بالتعلُمِ "
ความว่า “ แท้จริงแล้วความรู้นั้นเกิดขึ้นมาด้วยกับการศึกษา “
ฉะนั้น ควรที่เราท่านจะปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การศึกษาคือสิ่งที่จะนำมนุษย์ไปสู่วิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่ไม่ตกอยู่ในสภาพล้าหลัง
การศึกษาเป็นสุดยอดของสิ่งที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา เป็นอาวุธสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่แสงสว่างในการดำเนินชีวิต เป็นแสงสว่างนำพาให้เราพ้นจากความมืดมิดแห่งความโง่เขลา ทำให้เราพ้นจากการตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ประสงค์ร้าย ท่านทั้งหลายคงรู้จักกับคำพูดที่ว่า “คนโง่ ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด” แต่คนฉลาดจะไม่สามารถเป็นผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องได้เลย ถ้าเขาไม่ได้ศึกษา และคนโง่ ก็จะไม่เป็นผู้ที่โง่เขลาตลอดกาล หากเขารักที่จะศึกษาและใฝ่หาความรู้

อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมากมาย ถึงกับระบุว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เป็นหน้าที่ของเราทุกคนในการที่จะแสวงหามัน ดังที่ท่านนบีมูฮำหมัด ศ็อลฯ ได้กำชับพวกเราว่า
" طَلبُ العلِم فريضةٌ علي كل مسلمٍ ومسلمةٍ "
ความว่า “ การ แสวงหา ความรู้นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือมุสลิมชาย และมุสลิมหญิงทุกคน”
จากฮาดิษนี้ บอกไว้ชัดเจนว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ บุคคลทุกคน ทุกเพศทุกวัย และการศึกษาตามทัศนะของอิสลาม ไม่ได้จำกัดที่อายุของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ในการที่เขาจะใฝ่หาความรู้ ดังที่ท่านศาสดากล่าวไว้ว่า
" اطلبوا العلم مِنَ المهدِ إلي اللحدِ "
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงศึกษาหาความรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมศพ”
ฮาดิษนี้ได้ยืนยันอีกครั้งว่า การศึกษาไม่มีวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก จะเป็นหนุ่มหรือสาว หรือจะเป็นคนชราที่ มีอายุเยอะแล้ว พวกเขาย่อมที่จะศึกษาหาความรู้ได้ และท่านนบีของเรายังได้กำชับให้เราศึกษา ถึงแม้ว่าความรู้นั้นจะอยู่แสนไกล
" أطلب العلم ولو با الصين "
ความว่า “ จงแสวงหาความรู้เถิด ถึงความรู้นั้นจะอยู่ถึงเมืองจีน”
ท่านนบีส่งเสริมให้ขวนขวายแสวงหาความรู้ ถึงแม้จำต้องเดินทางในดินแดนที่แสนไกลเพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษา อัลลอฮ์ตาอาลาได้ดำรัสถึงความประเสริฐต่างๆของความรู้ ดังที่พระองค์ดำรัสถึงคำขอพรของท่านนบีมุฮำหมัด ศ็อลฯ ในโองการหนึ่งของซูเราะห์ ตอฮาว่า
قال تعالي: ربِّ زدني عاماً

ความว่า “ โอ้อัลลอฮ์ขอพระองค์เพิ่มความรู้ให้กับฉันเถิด”
และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความประเสริฐของความรู้อีกประการหนึ่ง เพราะอัลลอฮ์ไม่ได้ใช้นบีของเราแสวงหาสิ่งใดเพิ่มเติม เว้นไว้แต่ความรู้
อัลลอฮ์ตะอาลา ทรงดำรัสไว้ถึงความประเสริฐต่างๆของผู้ที่มีความรู้ไว้มากมาย ดังโองการหนึ่งที่พระองค์ดำรัสไว้ในซูเราะห์ อัลมุญาดะละห์ อายะห์ที่ 11
قوله تعالي: يرفعِ اللهُ الذينَ آمنوا منكم والذين أوتُوا العلمَ درجاتٍ
ความว่า “ อัลลอฮ์จะทรงยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ที่ได้รับความรู้นั้นหลายชั้น”
อิสลามได้ระบุถึงหนทางที่จะได้รับความรู้โดยการศึกษาตามรูปแบบต่างๆ ตามแต่ยุคสมัย ในปัจจุบันรูปแบบการศึกษามีมากมายหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ที่ศึกษาว่าจะเลือกในรูปแบบใด แต่ในวันนี้จะไม่กล่าวถึงรูปแบบการศึกษา แต่จะกล่าวถึง ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยให้การศึกษานั้นประสบผลสำเร็จ และเป็นสิ่งที่ทำให้พ้นผ่านอุปสรรค นำเราสู่จุดหมาย สู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ที่ได้รับจากการศึกษา ได้แก่
. ความตั้งใจ
ศาสนาอิสลามได้วางกฎเกณฑ์เงื่อนไขการทำความภักดีต่อพระเจ้า โดยผ่านเจตจำนงของผู้กระทำ ดังวจนะของท่านนบีว่า
" إنما الأعمال بالنيات "
ความว่า “แท้จริงบรรดาการงานต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา”
การศึกษาก็เช่นกัน ผู้ประสงค์จะศึกษาวิชาการต่างๆจะต้องตั้งเจตนาอันแน่วแน่และบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ และนอกจากนี้จะต้องตั้งเป้าหมายการศึกษาของตน นับตั้งแต่แรกเริ่ม และขณะกำลังศึกษาอยู่ กล่าวคือจะต้องรู้สติ มิใช่ศึกษาโดยปราศจากเป้าหมาย อันเปรียบเสมือนเรือที่ลอยเค้วงคว้างอยู่กลางทะเลโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะการดำเนินชีวิตลักษณะนี้จะเป็นการยากที่จะไปถึงเป้าหมาย และนอกจากนี้ผู้ศึกษาจะต้องดำรงตนให้อยู่ในหนทางที่สามารถไปถึงเป้าหมาย ดังเช่น โคลงอาหรับบทหนึ่ง เค้าบอกไว้ว่า
" ترجُوا النجاحَ ولم تسلُكْ مسالِكَها إنّ السفينةَ لاتجري علي اليَبَسِ "ِِ
“ท่านหวังที่จะประสบความสำเร็จ แต่ท่านไม่ได้เดินตามทางของมัน แท้ที่จริง เรือนั้นไม่ได้แล่นอยู่บนบก”
ต่อมาปัจจัยที่สองคือ
ความอดทน
หากเราพิจารณาประวัติของบรรดานบีที่ได้ระบุไว้ในกุรอาน เราจะพบว่าความอดทนเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่บรรดานบีใช้เป็นปัจจัยในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในอันที่จะได้มาซึ่งธรรมนูญการดำเนินชีวิตจากพระเจ้า และการใช้ความอดทนในการเผยแผ่ศาสนาต่อมวลประชาชาติ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ไม่มีกิจการงานใดที่เราจะได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องประสบความยากลำบากและใช้ความอดทน ดังเช่นเมื่อเราใคร่ครวญพิจารณาถึงประวัติของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม เราจะพบว่าฮิกมัตที่อัลลอฮ์ ตะอาลาให้นบีมูซาต้องรอนแรมเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาซีนาย และประสพความยากลำบาก เพื่อรับบัญญัติจากอัลลอฮ์ ฮิกมัตหนึ่งที่เห็นนั่นคือ ให้ประชาชาติรุ่นหลังได้มองเห็นถึงการที่จะต้องใช้ความอดทนเพื่อจะได้มาซึ่งบทบัญญัติของพระเจ้า และพวกเรากำลังดำเนินตามหนทางของท่านนบีมูซา และท่านอื่นๆ ดังนั้นผู้ที่ออกไปแสวงหาความรู้ เขาจะต้องนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดชี้แนะแก่สังคม ถึงแม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาต่างกว่าจะได้ความรู้มานั้น จำเป็นที่เขาจะต้องอดทน
ปัจจัยที่สามได้แก่
ความขยันหมั่นเพียร
เป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่ผู้มุ่งแสวงหาความรู้พึงปฏิบัติ เพราะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายหรือความสัมฤทธิ์ผลดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ความขยันหมั่นเพียรนี้จะอยู่คู่กับความอดทน เพราะเป้าหมายใดๆจะสำเร็จไม่ได้ หากปราศจากซึ่งความเพียรพยายาม และการเสียสละเวลาเพือ่การศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะศึกษาจากสื่อความรู้รูปแบบใดก็ตาม
ปัจจัยที่สี่ คือ
การเสียสละเวลาและความสม่ำเสมอ
โดยหลักการอิสลามแล้วเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้ทรงสาบานกับกาลเวลาถึงการขาดทุนของผู้ที่ไม่มีอีหม่านหรือผู้ที่ปล่อยปละละเลย โดยไม่คิดถึงคุณค่าของเวลาหรือไม่ยึดหลักการของพระองค์ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลอัศร์
بسم الله الرحمن الرحيم
(والعصر إن الإنسان لفي خسرِ إلاالذين آمنوا وعملواالصالحات وتواصوابالحق وتواصوا بالصبر)
ความว่า “ขอยืนยันกับกาลเวลา แท้จริงมนุษย์ตกอยู่ในความขาดทุน ยกเว้นบรรดาผู้ที่มีศรัทธาและประพฤติแต่ความดีงาม และพวกเขาตักเตือนกันในสัจธรรมและพวกเขาตักเตือนกันในเรื่องขันติธรรม”
ซูเราะห์ดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของเวลา และเล็งเห็นผลบั้นปลายของผู้ที่เฉยเมยต่อคุณค่าของเวลาที่ผ่านไป เพื่อจะได้ใคร่ครวญถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล ทำให้เราตระหนักถึงหน้าที่ของเราในการมาอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังเช่น นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก ที่ลืมการใคร่ครวญ การระลึกว่า เรากำลังอยู่ในบทบาทของผู้ที่ศึกษา ภาระหน้าที่สำคัญคือการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจควบคู่ไปกับการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมที่อาศัยอยู่ แต่ทั้งนี้การทำประโยชน์เหล่านั้นต้องไม่ทำให้เราไขว้เขวออกจากหน้าที่หลักคือ “การศึกษา” ซึ่งการหลงลืมต่อภาระหน้าที่ดังกล่าว นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่กีดกันความสำเร็จของนักศึกษา ดังนั้นการบริหารเวลา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในด้านบวกและลบในเวลาเดียวกัน ท่านรอซู้ล ศ็อลฯ ได้เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “อิสลามให้ความสำคัญต่อเวลา” แต่ไม่ได้ใช้ให้เราถึงกับต้องทุ่มเทเวลาทุกนาที ให้อยู่กับการทำอิบาดะห์ ถึงขั้นตัดขาดจากความเป็นจริงของการดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ท่านนบีทรงเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตในลักษณะผ่อนปรน นั่นคือการรู้จักให้สิทธิแก่ร่างกายในการพักผ่อนหาความสำราญ ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านั้นไม่ทำให้เราหันเหออกจากการเป็นบ่าวที่ภักดีต่ออัลลอฮ์ตาอาลา เพราะการให้สิทธิแก่ร่างกายเป็นหลักการของอิสลาม แต่การพักผ่อน จะต้องไม่เป็นการบั่นทอนความมุ่งมั่นหรือการตั้งใจในการศึกษา
และปัจจัยสุดท้าย ก็คือ
ขอดุอาอ์เพื่อความสัมฤทธิ์ผล
อัลกุรอานและอัลฮาดีษได้กล่าวถึงภาคผลของผู้ที่อยู่ในหนทางการศึกษาไว้อย่างมากมาย เช่น การบอกกล่าวถึงลำดับขั้นความมีเกียรติของผู้ที่มีความรู้ และผลบุญที่อัลลอฮ ซุบฯ จะประทานให้แก่ผู้เรียน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้บ่งชี้ถึงการเป็นอิบาดะห์ของภาคการศึกษา และอิบาดะห์ นั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ตะอาลา เพื่อการบรรลุผล และเป็นการมอบหมายต่อพระองค์ หลังจากที่เราได้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้อย่างดีที่สุดแล้ว ท่านนบีมุฮำหมัด ศอลฯ ได้กล่าวว่า
" الدعاءُ مخُّ العبادة "
ความว่า “ การขอพรคือส่วนสำคัญของอิบาดะห์”
ซึ่งการขอพรต้องควบคู่ไปกับการมอบหมายทุกอย่างต่อพระเจ้าโดยดุษฏี ดังนั้นการบรรลุความสำเร็จของการศึกษาจึงประกอบไปด้วยปัจจัยที่กล่าวมานี้
อิสลามได้ย้ำถึงคุณค่าของการศึกษาไว้อย่างมากมาย และอิสลามได้ยกย่องผู้ที่มีความรู้และผู้ที่ให้ประโยชน์ในทางวิชาการ โดยมิได้ระบุเฉพาะว่า เป็นวิชาด้านใด หรือสาขาใด หากการศึกษาและการให้คุณประโยชน์นั้นอยู่บนพื้นฐานการภักดีต่อพระเจ้า มิได้เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ แต่การศึกษาที่เป็นหนทางไปสู่ความโปรดปรานและการใกล้ชิดต่อัลลอฮ์ที่สุด คือการศึกษาในเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา ศึกษาอัลกุรอาน และอัลฮาดิษ ตามแบบฉบับของบรรดาศอฮาบะห์ ที่พวกเขาได้ศึกษาและได้รับความรู้จากท่านรอซู้ล ศอลฯ

การปลูกฝังเยาวชนให้รักการศึกษาเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และหากลูกหลานมุสลิมเราได้รับความรู้ทั้งในด้านศาสนาและด้านวิทยาการอื่นๆควบคู่กันด้วยแล้ว ลูกหลานของเราจะเป็นมุสลิมที่มีคุณภาพ เป็นผู้ศรัทธาที่ยำเกรงและรู้เท่าทันภยันตรายที่อยู่รอบตัวพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะกลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์
และในวันพรุ่งนี้วันเสาร์ที่10 และอาทิตย์ที่11 นี้ ทางโรงเรียนมิฟตาฮุลอุลูมิดดีนิยะห์ จะจัดงานรวมน้ำใจสู่มิฟตาฮ์ เพื่อหารายได้บำรุงและส่งเสริมการศึกษา แก่บุตรหลานเยาวชนมุสลิมของเรา ภายในงานมีอาหารจำหน่าย และมีการบรรยายธรรมโดยบรรดาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณาจารย์รุ่นใหม่ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศซึ่งพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เก่ามิฟตาฮ์ทั้งสิ้น มาร่วมชื่นชมความสามารถของพวกเขาซึ่งพวกเขาได้ดำเนินตามแบบฉบับของท่านศาสดาและเป็นคนรุ่นใหม่

ดัดแปลงจากบทความของ อ.อิลยาส มาศโอสถ และ อ.อับดุลฆอนี เด่นตี วารสาร"อัลมิฟตาฮ์" ฉบับที่ 8 ปีที่ 10 ฮ.ศ.1423 / พ.ศ. 2545

4 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

السلام عليكم

ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให่คุณช่วยเปลี่ยน
อักษรของสี ให้เปลี่ยนเป็นดำ หรือ สี่อะไรก็ได้
ที่มันดูแล้วไม่แสบตา

جزاكَ /كِ الله خيراً

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ช่วยเปลี่ยนสีตัวอักษรหน่อยค่ะ อ่านไม่ออกเลย แสบตา ๆ

Unknown กล่าวว่า...

ถ้าเปลี่ยนสีของตัวอักษรคงจะดีมากนะคะ
รู้สึกอ่านไดัยากมากเลยค่ะ
เวลาดิฉันอ่าน ดิฉันจะคลุมก้อป
รู้สึกว่าจะอ่านได้หน่อย

جزاكَ /كِ الله خيراً